โรคของข้อสะโพกที่พบบ่อย

What Is Book Value

1. โรคหัวกระดูกสะโพกขาดเลือด (Avascular necrosis)
โรคนี้พบบ่อยในคนที่มีอายุประมาณ 30-40 ปี เชื่อว่าเกิดจากการที่เส้นเลือดที่มาเลี้ยงหัวกระดูกสะโพกมีการอุดตัน ทำให้หัวกระดูกสะโพกค่อยๆตาย ผิวข้อสะโพกจะเสียไป จนในที่สุดหัวกระดูกสะโพกจะยุบตัว ทำให้คนไข้ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ตามปกติและมีอาการเจ็บปวดอย่างมาก สาเหตุที่แน่นอนยังไม่สามารถสรุปได้ แต่ก็มีอยู่หลายสมมติฐานที่ได้รับการพิสูจน์ว่าอาจมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างมาก ได้แก่ การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หรือการรับประทานยาในกลุ่มสเตียรอยด์เป็นประจำ หรือภายหลังจากการได้รับอุบัติเหตุที่ทำให้มีการเคลื่อนหลุดของหัวสะโพกจากเบ้า เป็นต้น

2. โรคข้อสะโพกเสื่อม (Hip osteoarthritis)
ส่วนมากพบในกลุ่มคนที่อายุเกิน 50 ปีขึ้นไป มักเกี่ยวข้องกับการที่ข้อสะโพกเจริญเติบโตอย่างผิดปกติตั้งแต่วัยเด็ก ส่วนมากพบในคนที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคนี้ อาการของโรคเกิดจากผิวข้อสะโพกสึกกร่อนและไม่เรียบ หรือการที่มีหัวสะโพกไม่กลมรับไปกับเบ้าสะโพกทำให้การเคลื่อนไหวของข้อสะโพกผิดปกติไป นานๆเข้าจะทำให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวได้ลำบากและมีอาการเจ็บปวด

3. โรคอักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis)
เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งก่อให้เกิดอาการอักเสบแบบไม่ติดเชื้อ เกิดได้กับข้อต่างๆทั่วร่างกาย มีอาการอักเสบแบบเป็นๆหายๆ นานไปก็ทำให้ผิวข้อมีการสึกกร่อนและถูกทำลายไป

4. โรคข้อเสื่อมหลังการบาดเจ็บ (Traumatic arthritis)
โรคนี้พบภายหลังการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ ที่ทำให้ข้อสะโพกแตกหรือหลุดออกจากเบ้าสะโพก ซึ่งแม้หายจากอาการบาดเจ็บแล้ว ผิวข้อสะโพกก็อาจจะยังไม่เรียบดี ทำให้ต่อมาภายหลังเกิดเป็นโรคข้อสะโพกเสื่อม

5. โรคคอกระดูกสะโพกหัก (Femoral neck fracture)
พบได้ในทุกกลุ่มอายุ แต่จะพบมากในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคกระดูกพรุนร่วมด้วย คอกระดูกสะโพกหักเป็นสาเหตุที่ทำให้คนไข้ต้องได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม

เมื่อไรที่ต้องเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม

การเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม (Total Hip Arthroplasty)
นั้นผู้ป่วยต้องได้รับการลงความเห็นจากแพทย์ว่าเป็นโรคที่จำเป็นต้องรักษาด้วยการเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม (ดังกล่าวไว้ในโรคข้อสะโพกที่พบบ่อย) โดยมากแล้วคนไข้มักจะมีลักษณะดังต่อไปนี้
- ปวดข้อสะโพกตลอดเวลา ไม่ว่าจะเดินหรือเคลื่อนไหวลุกนั่ง
- ข้อสะโพกติดหรือเคลื่อนไหวได้ลำบาก
- รับการรักษาโดยการรักษาแบบประคับประคอง เช่นรับประทานยาแก้ปวด หรือเข้ารับการทำกายภาพบำบัด แล้วอาการไม่ดีขึ้น
- ข้อสะโพกเสื่อมในระยะสุดท้าย
- หัวกระดูกสะโพกขาดเลือดระยะสุดท้าย
- คอกระดูกสะโพกหัก

ผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมแบบแผลเล็ก

เทคโนโลยีของการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมสมัยใหม่ในปัจจุบันได้มีวิวัฒนาการเป็นอย่างมากในทศวรรษนี้ ด้วยเหตุผลที่ต้องการให้ผู้ป่วยมีความเจ็บปวดจากการผ่าตัดน้อยที่สุด บาดแผลหลังผ่าตัดมีขนาดเล็กลง สามารถลุกเดินและกลับไปประกอบกิจวัตรประจำวันได้อย่างรวดเร็ว วิธีการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมจึงสามารถแบ่งได้เป็น 2 วิธี ได้แก่

1. แบบมาตรฐานดั้งเดิม(Standard Total Hip Arthroplasty)
การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมด้วยวิธีมาตรฐานดั้งเดิมทำกันมานานกว่า 50 ปี โดยที่ผลของการผ่าตัดก็ดีเป็นที่น่าพอใจ โดยอาศัยหลักการที่แพทย์ต้องการเห็นภายในข้ออย่างชัดเจนเพื่อให้สามารถวางตำแหน่งของข้อเทียมได้อย่างแม่นยำ จึงจำเป็นต้องเปิดแผลผ่าตัดให้มีขนาดใหญ่ ประมาณ 15-20 เซนติเมตร การทำผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมแบบแผลเล็ก (เนื้อเยื่อบาดเจ็บน้อย)จัดได้ว่าเป็นกลุ่มของวิธีการทำผ่าตัดข้อสะโพกเทียมแบบใหม่ที่มีเป้าหมายเพื่อลดความรุนแรงต่อการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อ, ลดการตัดทำลายกล้ามเนื้อและลดขนาดของแผลผ่าตัดลงให้เล็กที่สุดพอที่จะใส่ข้อเทียมได้อย่างแม่นยำ ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบกับวิธีการผ่าตัดแบบดั้งเดิมแล้ว พบว่าการทำผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมชนิดเนื้อเยื่อบาดเจ็บน้อยทำให้มีการเสียเลือดจากการผ่าตัดลดลง, ลดความเจ็บปวดที่เกิดจากการผ่าตัด, ผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวจากการผ่าตัดได้รวดเร็วขึ้น รวมถึงระยะเวลาในการนอนโรงพยาบาลของผู้ป่วยก็สั้นลง นอกจากนี้แล้วผู้ป่วยยังมีความพึงพอใจต่อรอยแผลหลังผ่าตัดที่มีขนาดเล็กลงประมาณ 1 ใน 3 ของแบบมาตรฐานดั้งเดิมอีกด้วย การทำผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมแบบแผลเล็ก สามารถแบ่งเป็น 3 วิธีใหญ่ๆ ได้แก่ การผ่าตัดแบบแผลเดียวทางด้านหน้า (single incision anterior approach), การผ่าตัดแบบแผลเดียวทางด้านหลัง (single incision posterior approach), และการทำผ่าตัดแบบ 2 แผลเล็ก (2-small incision) โดยแผลทางด้านหน้าเพื่อทำส่วนเบ้า (acetabular component ) และแผลทางด้านหลังเพื่อทำส่วนก้าน (femoral component)

2. แบบแผลเล็ก (เนื้อเยื่อบาดเจ็บน้อย) (Minimally Invasive Surgery-Total Hip Arthroplasty; MIS-THA)
ผู้ป่วยที่เหมาะสมต่อทำผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมแบบแผลเล็กนี้ คือคนที่รูปร่างไม่อ้วนมาก สุขภาพแข็งแรง อายุไม่มากจนเกินไป รวมถึงมีความตั้งใจที่จะลุกเดินกลับไปประกอบกิจวัตรประจำวันได้อย่างรวดเร็วภายหลังผ่าตัด โดยที่มีโรคของข้อสะโพกและภาวะบางอย่างของข้อสะโพกที่ไม่เหมาะจะทำผ่าตัดด้วยวิธีนี้ ท่านควรปรึกษากับแพทย์ก่อนที่จะทำผ่าตัดถึงข้อดีข้อเสียและความเหมาะสมก่อนการผ่าตัดด้วยวิธีนี้

เทคนิคการทำผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมแบบแผลเล็ก (เนื้อเยื่อบาดเจ็บน้อย)
การทำผ่าตัดด้วยวิธีนี้ แพทย์จำเป็นต้องอาศัยเครื่องมือผ่าตัดชนิดพิเศษบางอย่าง รวมถึงต้องมีความชำนาญและได้รับการฝึกฝนวิธีผ่าตัดแบบนี้มาเป็นอย่างดี โดยข้อสะโพกเทียมที่ใช้นั้นยังเป็นข้อเทียมแบบเดียวกับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมด้วยวิธีมาตรฐานดั้งเดิมที่มีผลการใช้งานที่ยาวนานยืนยันมาเป็นอย่างดี ขั้นตอนการผ่าตัดด้วยวิธีนี้ยังคงเหมือนกับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมด้วยวิธีมาตรฐานดั้งเดิม แต่การผ่าตัดด้วยวิธีใหม่นี้จะมีการตัดทำลายกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อของสะโพกน้อยกว่า โดยแพทย์จะลงแผลผ่าตัดที่บริเวณด้านข้างของสะโพกยาวประมาณ 6- 8 เซนติเมตร หลังจากนั้นจะแหวกกล้ามเนื้อหรือตัดกล้ามเนื้อเพียงบางส่วนเพื่อเข้าสู่ข้อสะโพก เมื่อทำการใส่ส่วนหัวและก้านข้อสะโพกเทียม รวมถึงเบ้าสะโพกเทียมเป็นที่เรียบร้อยดีแล้ว ก็เย็บซ่อมส่วนของกล้ามเนื้อที่ตัดออก และแพทย์จะทดสอบความมั่นคงของข้อสะโพกเทียมเป็นอย่างดีอีกครั้ง

ข้อดีของการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมแบบแผลเล็ก (เนื้อเยื่อบาดเจ็บน้อย)
- แผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก 6-8 เซนติเมตร
- เจ็บปวดน้อยกว่า
- เสียเลือดน้อยกว่า
- ลุกเดินได้เร็วกว่า
- กลับบ้านได้เร็วกว่า

เปรียบเทียบการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมด้วยวิธีมาตรฐานกับแบบเนื้อเยื่อบาดเจ็บน้อย
ถ้าเราเปรียบเทียบการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมด้วยวิธีมาตรฐานดั้งเดิม(Standard Total Hip Arthroplasty) กับวิธีเนื้อเยื่อบาดเจ็บน้อย (Minimally Invasive Surgery-Total Hip Arthroplasty: MIS-TKA) จะพบว่า มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจนในเรื่องของ ขนาดแผลผ่าตัด ปริมาณการเสียเลือด ความจ็บปวดของคนไข้หลังการผ่าตัด วันที่คนไข้สามารถเริ่มลุกเดินได้ รวมถึงระยะเวลาที่คนไข้นอนอยู่ในโรงพยาบาล ดังจะเห็นได้จากตารางเปรียบเทียบนี้

What Is Book Value

กระดูกพรุนคืออะไร?
“โรคกระดูกพรุน” หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “โรคกระดูกโปร่งบาง” เป็นโรคที่เกิดจากความหนาแน่นของกระดูกมีน้อยลง หรือมีความผิดปกติที่โครงสร้างของกระดูก ทำให้กระดูกเปราะกว่าปกติ จึงเกิดการหักได้ง่ายแม้จะมีแรงมากระทำที่ไม่รุนแรงมาก ผู้ป่วยด้วยโรคนี้มักไม่ค่อยมีอาการแสดงให้เห็น จึงถือว่าเป็นภัยเงียบที่สำคัญสำหรับคนสูงอายุ แต่ในคนไข้บางคนก็อาจมีอาการแสดงให้เห็นบ้าง เช่น หลังโก่งมากขึ้น หรือมีอาการปวดหลังเรื้อรัง เป็นต้น คนที่มีความเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุน มักเป็นผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน คนที่มีรูปร่างผอมบาง ขาดแคลเซียมและวิตามินดี สูบบุหรี่และขาดการออกกำลังกาย การตรวจหาโรคกระดูกพรุนที่นิยมทำกันในปัจจุบัน โดยการตรวจด้วยเครื่องวัดมวลกระดูก การตรวจก็ไม่ยุ่งยาก ไม่เจ็บตัวและรู้ผลได้รวดเร็ว คนที่มีความเสี่ยงต่อภาวะกระดูกพรุนก็ควรตรวจสักปีละ 1 ครั้ง คุณสามารถป้องกันภาวะนี้ได้ด้วยการรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น นม หรีอ ปลาเล็กปลาน้อย หรือยาแคลเซียมที่แพทย์จ่ายให้ และออกกำลังกายสม่ำเสมอ โดยควรออกกำลังกายให้ได้รับแสงแดดอ่อนๆตอนเช้าหรือตอนเย็นๆ นอกจากนี้ในคนไข้ที่เป็นโรคกระดูกพรุนแล้ว แพทย์อาจจ่ายยาที่ช่วยเพิ่มความหนาแน่นของกระดูกให้ทานด้วย

กระดูกสะโพกหักมีกี่แบบ?
กระดูกสะโพกหักสามารถแบ่งได้คร่าวๆเป็น 2 แบบด้วยกัน

1. กระดูกคอสะโพกหัก (Femoral neck fracture) เป็นการหักตรงตำแหน่งคอของกระดูกสะโพก ทำให้ส่วนหัวและก้านของกระดูกสะโพกแยกจากกัน วิธีการรักษาขึ้นอยู่กับอายุของคนไข้ และความมากน้อยในการเคลื่อนออกจากกันของส่วนหัวและก้านของกระดูกสะโพก

2. กระดูกฐานคอสะโพกหัก (Intertrochanteric fracture) เป็นการหักตรงตำแหน่งฐานคอของกระดูกสะโพก หรือส่วนที่อยู่ต่ำกว่าคอสะโพกลงมา การรักษามักมีความยุ่งยากน้อยกว่ากระดูกคอสะโพกหัก โดยใช้การดามด้วยโลหะชนิดพิเศษ

ใครบ้างที่มีความเสี่ยงสูงต่อภาวะกระดูกสะโพกหัก?

คนที่มีความเสี่ยงสูงต่อภาวะกระดูกสะโพกหัก นอกจากคนสูงอายุที่มีภาวะกระดูกพรุนแล้ว ปัจจัยเหล่านี้จะเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อภาวะนี้
- คนที่ดื่มแอลกอฮอล์และกาแฟมากๆเป็นประจำ
- คนที่มีกล้ามเนื้อไม่แข็งแรงทรงตัวไม่ดี
- คนที่มีรูปร่างผอมบาง
- คนที่มีปัญหาสายตา เพราะเสี่ยงต่อการล้มได้ง่าย
- คนที่สูบบุหรี่มากแป็นประจำ
- คนสูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อม

thaijoints.com - หมวดหมู่ สุขภาพ

สนใจติดต่อโฆษณา support@geniusgraphic.com

@2024 thaijoints.com